วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

ไผ่


ชื่อไทย ไผ่ 
ชื่อวิทยาศาสตร์ Bambusa sp.
ชื่อสามัญ ไผ่ Bamboo 
ตระกูล GRAMINEAE 

มงคลเเละเคล็ดปฏิบัติ: มงคลจะสังเกตได้ว่า มีบ้านเรือนจำนวนไม่น้อยเลย ที่นิยมปลูกต้นไม้ไผ่เอาไว้ภายในบริเวณบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ไผ่เหลืองทอง ไผ่สีสุก ไผ่เตี้ย หรือไผ่น้ำเต้า การที่คนไทยนิยมปลูกต้นไผ่นั้น มีความเชื่อมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้วว่า หากปลูกต้นไผ่เอาไว้ภายในบริเวณบ้าน ก็จะช่วยให้ สมาชิกทุกคนภายในบ้านนั้น เป็นคนที่ไม่คดโกง หรือเอารัดเอาเปรียบใคร ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร ก็จะตั้งใจทำ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรม ซึ่งความเชื่อเหล่านั้น ก็มีพื้นฐานมาจากลักษณะของต้นไผ่นั่นเอง ต้นไผ่นั้นจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แตกกิ่งก้านสาขาที่เหยียดตรง และเรียบเนียน ส่วนด้านในของปล้องไผ่แต่ละปล้อง ก็จะมีแต่เนื้อไม้สีขาวบริสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนโบราณเชื่อว่าไผ่สีสุกนั้น จะช่วยส่งผลให้สมาชิกทุกคนในบ้านนั้น ประสพแต่ความสำเร็จ ร่ำรวยเงินทอง มีความสุขกันถ้วนหน้า เพราะชื่อของไผ่ชนิดนี้ คล้องจองกับคำว่า “มั่งมีศรีสุข” จึงช่วยให้เกิดความสุขความเจริญ แก่ผู้ปลูกกันทั่วทุกคนชาวจีนก็เชื่อกันว่า ไผ่จะเสริมมงคลให้คนในบ้าน เป็นคนมุ่งมั่นตั้งใจจริง มีปัญญาเลิศมีเหตุผล ชื่อตรง เอื้ออารี และกตัญญูรู้คุณ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ 

ไผ่เป็นพันธุ์ไม้ยืนต้น ลำต้นแตกเป็นกอเป็นไม้พุ่มเล็กถึงขนาดใหญ่ กอหนึ่งมีประมาณ20-25ต้นพอ ลำต้นมีความสูงประมาณ5-15เมตร ลักษณะลำต้นเป็นข้อปล้อง ผิวเกลี้ยงแข็งมีสีเขียวหรือเหลืองแถบเขียว ขนาดสีขึ้นอยู่กับพันธุ์และชนิด ใบเป็นใบเดี่ยว กว้างประมาณ1-2นิ้ว ยาวประมาณ5-12นิ้ว ออกดอกเป็นช่อตามปลายยอดเมื่อไผ่ออกดอก ไผ่จะตายไปชาวบ้านทั่วไปเรียกไผ่ตายขุย คือตายทั้งตระกูล ผลหรือลูก คล้ายเมล็ดข้าวสาร

ถิ่นกำเนิด:ไผ่ มีถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางเกือบทุกส่วนของโลก จัดอยู่ใน

ตระกูลหญ้า (Gramineae) และเป็นตระกูลหญ้าที่มีลำต้นสูงที่สุดในโลก เจริญเติบโตได้ดีทุกทวีป แต่พบมากที่สุดทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในเขตอบอุ่นก็พบไผ่อยู่บ้างแต่มีสกุลน้อยกว่าเขตร้อน

การแบ่งประเภทของไผ่ได้เป็น 3กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้คือ

      1.พันธุ์ไผ่ที่ใช้ประโยชน์ในการ อุปโภค-บริโภค

      2.พันธุ์ไผ่ที่หลากหลายสี เช่น ดำ เหลือง ทอง แดง ม่วง ชมพู

      3.พันธุ์ไผ่ที่สวยงามแปลกตา เช่นไผ่น้ำเต้า น้ำเต้าลาย-ทอง

การจำแนกสายพันธุ์ไผ่ที่พบในเมืองไทย

          1.สกุลอะรันดินาเรีย มีอยู่2ชนิดคือ ไผ่โจด และไผ่เพ็ก (หญ้าเพ็ก)

ไผ่โจด พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลำต้นมีสีเขียวอมเทามีความสูงประมาณ5เมตร ปล้องค่อนข้างสั้น 10-20 ซม. มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ7-10 มม. ไม่มีหนามหน่อมีสีเทาแกมเหลือง ลำต้นใช้ทำด้ามไม้กวาด จุดเด่นคือเหง้ามีลักษณะเด่นแปลกตา จึงนิยมมาทำเครื่องประดับภายในบ้าน อาจปลูกเป็นแนวรั้ว

และปลูกเป็นไผ่ประดับในบริเวณบ้าน หน่อใช้รับประทานได้

           ไผ่เพ็กหรือหญ้าเพ็ก ไผ่ชนิดนี้พบได้ในไทย เวียดนามและกัมพูชา ส่วนในประเทศไทยพบมากทางอีสาน เจริญได้ดีในเขตแห้งแล้ง จึงเกิดไฟไหม้ป่าไผ่ชนิดนี้อยู่เป็นประจำ ลำต้นสูงไม่เกิน3เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-7 มม.ขนาดของปล้องมีความยาว20-30 ซม. ขึ้นรวมเป็นกอ นิยมเอามาทำแผงตากสาหร่ายทะเล

       2.สกุลแบมบูซ่า แบ่งออกได้ 11ชนิด คือ ไผ่บง ไผ่ป่า(ไผ่หนาม) ไผ่ลำมะลอก ไผ่เหลือง(ไผ่จีน) ไผ่หอบ(ไผ่หอม) ไผ่เลี้ยง ไผ่สีสุก ไผ่บงหวาน ไผ่คันร่ม(ไผ่เปร็ง) ไผ่ดำ(ไผ่ตาดำ) และไผ่น้ำเต้า

           ไผ่บง พบได้ทั่วไปตามป่าดงดิบ เป็นไผ่ขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางของปล้อง6-10ซม. ความยาวปล้อง 20-30ซม. สูงประมาณ9-12เมตร ลำต้นนิยมใช้ทำเสื่อลำแพนและเยื่อกระดาษหน่ออ่อนนิยมมารับประทาน แม้จะมีรสขมอยู่บ้าง

ไผ่ป่า หรือไผ่หนาม พบได้ทุกภูมิภาคของประเทศ ต้นอ่อนมีสีเขียวเข้ม เมื่อแก่จัดมีสีเขียวอมเหลือง เป็นไผ่ขนาดใหญ่ มีหนามคมและขนมาก เส้นผ่าศูนย์กลางของปล้อง 10-15 เซนติเมตร ลำต้นใช้ทำนั่งร้านในการก่อสร้างหรือทาสีอาคาร และทำเครื่องจักสานอื่น หน่อใช้รับประทานได้

ไผ่ลำมะลอก พบได้ในทุกภูมิภาคของประเทศ แต่ในภาคใต้จะพบน้อยกว่าภาคอื่น ลำต้นมีสีเขียวเข้ม ไม่มีหนาม ข้อเรียบ กิ่งก้านและใบเกิดที่บริเวณลำต้น สูงจากพื้นดิน 6-7 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 7-10 เซนติเมตร สูงเฉลี่ย 10-15 เมตร ลำต้นค่อนข้างไม่อัดแน่น นิยมนำมาใช้ทำนั่งร้านในการก่อสร้าง ทำเสาโป๊ะ เฟอร์นิเจอร์ และงานจักสารที่ไม่ต้องการความประณีต หน่อใช้รับประทานได้

ไผ่เหลือง หรือ ไผ่จีน ไผ่ชนิดนี้สันนิษฐานว่านำเข้าจากประเทศจีน จึงไม่พบทั่วไป ลำต้นมีสีเหลือง มีลายเส้นเป็นแถบสีเขียว พากตามความยาวของปล้อง ผิวเกลี้ยง มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-10 เซนติเมตร ความยาวปล้องประมาณ 20-25 เซนติเมตร ความสูงเฉลี่ย 10-15 เมตร หน่อมีสีเหลืองอ่อน นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากลำต้นมีสีสวยงาม หน่อใช้บริโภคได้แต่ไม่เป็นที่นิยม

ไผ่หอบ หรือ ไผ่หอม พบมากที่จังหวัดเชียงราย ลำต้นสูงประมาณ 10 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางของปล้อง 7.5-15 เซนติเมตร และยาว 40 เซนติเมตร ใบมีขน เมื่อสัมผัสผิวหนังจะรู้สึกระคายเคืองและคัน ลำต้นใช้ประโยชน์ได้น้อย หน่อมีรสขม จึงไม่มีการนำมารับประทาน

ไผ่เลี้ยง พบมากในภาคกลาง ลำต้นมีสีเขียวสด เป็นไผ่ขนาดเล็ก ปล้องมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร และยาว 20-25 เซนติเมตร ลำต้นไม่มีหนาม นิยมใช้ทำคันเบ็ดและส่วนประกอบของเฟอร์นิเจอร์ ลำต้นแข็งแรง เนื้อต้นเกือบไม่มีช่องว่างภายใน บางแห่งนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ หน่อรับประทานได้ แต่ไม่นิยมรับประทาน

ไผ่สีสุก พบได้ทั่วไป แต่พบมากในบริเวณภาคกลางของประเทศ เป็นไผ่ชนิดที่สูงใหญ่ ลำต้นสีเขียวสด หน่อสีเทาอมเขียว ปล้องมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 7-10 เซนติเมตร ยาว 10-30 เซนติเมตร บริเวณข้อมีกิ่งคล้ายหนามหน่อมีขนาดใหญ่ มีขนสีน้ำตาล น้ำหนักหน่อประมาณ 3-4   กิโลกรัม ไผ่ชนิดนี้มีเนื้อหนาแข็งแรง ทนทานและเหนียว จึงนิยมนำไปใช้ประโยชน์มากกว่าไผ่ชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะทำเครื่องจักสาร เฟอร์นิเจอร์ นั่งร้านในการก่อสร้าง และนอกจากนี้ส่วนโคนของลำต้นยังนิยมใช้ทำไม้คานสำหรับหาบหามได้ดีมาก

            ไผ่บงหวาน พบได้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพบมากที่สุดที่จังหวัดเลย ลำต้นอ่อนมีสีเขียวใบไม้ เมื่อแก่มีสีเขียวเข้ม เส้นผ่าศูนย์กลางของปล้อง 5-8 เซนติเมตร สูง 5-10 เมตร มีหน่อสีเขียว น้ำหนักประมาณครึ่งกิโลกรัม ลำต้นนิยมนำมาทำดอกมัดสิ่งของ ทำไม้ค้ำยัน บันไดและเครื่องจักสาน หน่อมีรสหวานหอมอร่อย นิยมนำมาประกอบอาหารได้หลากชนิด

            ไผ่คันร่ม หรือ ไผ่เปร็ง พบมากที่จังหวัดปราจีนบุรี ตราด และระยอง ลำต้นอ่อนมีสีเขียวใบไม้ เมื่อแก่จัดสีเขียวเข้ม เส้นผ่าศูนย์กลางของปล้อง 3-5 เซนติเมตร ต้นสูง 8-10 เมตร หน่อมีสีเขียวอมเทา แต่เลือกหน่อจะมีสีแดง ลำต้นมีเนื้อหนา จึงนิยมนำมาทำบันไดโป๊ะ และหลักของการเลี้ยงหอยแมลงภู่

            ไผ่ดำ หรือ ไผ่ตาดำ พบมากในป่าทึบ แถบจังหวัดกาญจนบุรี และจันทบุรี ต้นมีสีเขียวคล้ำเกือบเป็นสีดำ ไม่มีหนาม เส้นผ่าศูนย์กลางของปล้อง 7-10 เซนติเมตร และยาว 30-40 เซนติเมตร สูง 10-12 เมตร มีเนื้อหนา นิยมนำลำต้นไปใช้ทำนั่งร้านก่อสร้างและเครื่องจักสานต่างๆ หน่อใช้รับประทานได้

            ไผ่น้ำเต้า พบได้ทั่วไป เป็นไผ่ที่มีปล้องสั้น ลำมีสีเขียว อาจมีแถบสีเหลือตามปล้อง และจะโป่งออกตอนกลางปล้องและตอนกลางของกิ่ง ปล้องมีเส้นผ่าศูนย์ลาง 4-8 เซนติเมตร สูง 3-4 เมตร แขนงแตกออกจากต้นที่สูงจากระดับพื้นดินประมาณ 1.5 เมตร หน่อมีสีเหลือง ไผ่ชนิดนี้เชื่อว่านำเข้าจากประเทศจีน ไผ่น้ำเต้าส่วนใหญ่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับในบริเวณบ้านหรือปลูกในกระถางไว้โชว์

          3. สกุลเซฟาลอสทาคียัม มี 2 ชนิด คือ ไผ่ข้าวหลาม ไผ่เฮียะ หรือไผ่เหียะ

            ไผ่ข้าวหลาม พบมากบริเวณตอนเหนือของจังหวัดกาญจนบุรีและภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน มีปล้องยาว 30 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของลำไผ่เฉลี่ย 5-7.5 เซนติเมตร ลำไผ่มีสีเขียวอมเทา มีความสูงเฉลี่ยระหว่าง 7-8 เมตร หน่อมีขนาดใหญ่ กาบน้ำสีหมากสุก ต้นไผ่นิยมนำมาทำกระบอกข้าวหลาม หน่อรับประทานได้แต่ไม่เป็นที่นิยม

            ไผ่เฮียะ หรือ ไผ่เหียะ ลำไผ่มีเส้นผ่าศูนย์ลาง 5-10 เซนติเมตร ปล้องยาว 50-70 เซนติเมตร ข้อเรียบ มีกิ่งเพียงเล็กน้อย เนื้อหนาประมาณ 1-2 เซนติเมตร มีความสูง 10-18 เมตร ลำต้นนำไปทำโครงสร้างบ้านเรือนและเครื่องจักสานต่างๆ หน่อรับประทานได้แต่ไม่เป็นที่นิยมกัน

            4. สกุลเดนโดรคาลัส ได้แก่ ไผ่ชาง หรือไผ่นวลหรือไผ่ปล้อง ไผ่หก หรือไผ่นวลใหญ่ ไผ่เป๊าะ หรือไผ่เปราะ ไผ่ตง



            ไผ่ซาง หรือ ไผ่นวล หรือ ไผ่ปล้อง พบในป่าดิบทั่วไป ลำต้นมีสีเขียวนวล ปล้องยาว 50-70 เซนติเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-12 เซนติเมตร ลำต้นสูง 8-10 เมตร ไม่มีหนาม หน่อมีสีน้ำตาลปนส้มและมีขนสีน้ำตาล ไผ่ชนิดนี้เนื้ออ่อนและเหนียว สามารถจักดอกเป็นเส้นเล็กๆได้ จึงนำยมนำมาใช้ทำเครื่องจักสานที่ต้องการรายละเอียดสูง หน่อรับประทานได้ ไผ่ซางหรือไผ่นวล พบมากที่ภาคเหนือ และภาคกลางของประเทศ ลำต้นใช้ทำนั่งร้านก่อสร้าง ทำเครื่องจักสาน และเยื่อกระดาษ หน่อใช้รับประทานได้

            ไผ่หก หรือ ไผ่นวลใหญ่ พบมากในภาคเหนือและจังหวัดกาญจนบุรี ไผ่ชนิดนี้ลำต้นมีสีเขียวอมเทา และมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 15-20 เซนติเมตร ปล้องมีความยาว 40-50 เซนติเมตร ลำต้นสูงประมาณ 10-15 เมตร ลำผ่นำยมนำมาทำเผื่อกระดาษ และเครื่องจักสานต่างๆ หน่อใช้รับประทานได้แม้มีรสเข้มอยู่บ้าง

            ไผ่เป๊าะ หรือ ไผ่เปราะ พบที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลำต้นมีสีเขียว มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 10-20 เซนติเมตร เนื้อแข็งเปราะ ข้อเรียบ ปล้องยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ลำต้นสูงถึง 30 เมตร หน่อมีขนาดใกล้เคียงกับลำผ่และมีสีเหลืองอมขาว ไผ่ชนิดนี้นิยมนำมาทำกระบอกข้าวหลาม ไม่นิยมนำมาทำเครื่องจักสาน เนื่องจากมีเนื้อแข็งและเปราะ

            ไผ่ตง มีมากในจังหวัดปราจีนบุรี ไผ่ตงเป็นไผ่ขนาดใหญ่ ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6-15 เซนติเมตร ปล้องยาว 20 เซนติเมตร ปล้องยาว 20 เซนติเมตร ไม่มีหนาม โคนต้นมีลายสีขาวสลับเทา ลำต้นมีขนสั้นๆขึ้นอยู่ หน่อมีน้ำหนักประมาณ 3-10 กิโลกรัม ไผ่ตงแบ่งออกเป็นไผ่ตงเขียว ไผ่ตงดำ ไผ่ตงหม้อ และไผ่ตงหนู เนื้อไม้นิยมนำมาใช้ทำเครื่องจักสานและไม้จิ้มฟัน หนอนิยมนำมาปรุงอาหารได้หลากชนิด

            5. สกุลไดโนเคลา ได้แก่ ไผ่ลาน หรือไผ่เลื้อย

            ไผ่ลาน หรือ ไผ่เลื้อย พบมากในภาคใต้ของประเทศ ลำต้นมีลักษณะคลายเถาวัลย์เลื้อยหรือพาดไปตามต้นไม้ที่อยู่ใกล้เคียง ลำต้นมีสีเขียว เส้นผ่าศูนย์กลางองต้นไผ่ประมาณ 1 เซนติเมตร เนื้อบาง ใบและลำต้นมีขนสีน้ำตาลเป็นจำนวนมาก ปล้องยาว 10 -20 เซนติเมตร ไผ่ชนิดนี้นิยมนำไปใช้เป็นส่วนประกอบสมุนไพรรักษาโรค

            6. สกุลจิกแอนโทเคลา ได้แก่ ไผ่มัน หรือไผ่เปาะ ไผ่ไร่ ไผ่ไล่ลอ ไผ่แนะ หรือไผ่คาย ไผ่ผาก ไผ่คายดำ ไผ่บงคาย

            ไผ่มัน หรือ ไผ่เปาะ พบมากในภาคใต้ของประเทศ ลำไผ่สีเขียวมัน ไม่มีหนาม เส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 8-10 เซนติเมตร ปล้องยาว 30-40 เซนติเมตร ทรงกอโปร่ง ลำต้นสูง 10 -15 เมตร หน่อมีสีน้ำตาลแก มีน้ำหนักเฉลี่ย 3-4 กิโลกรัม ลำไผ่ใช้ทำส่วนประกอบโครง สร้างบ้านเรือนและเครื่องจักรสานต่างๆ หน่อใช้รับประทานได้

            ไผ่ไร่ พบได้ทุกภาคของประเทศ ลำต้นมีสีเขียวปนเทา ผิดสาก แต่ไม่มีหนาม มีขนทั่วลำต้น เป็นไผ่ขนาดเล็ก มีเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นเพียง 1.5-2.5 เซนติเมตร ปล้องยาว 30 เซนติเมตร การแตกกอหนาแน่นมาก นิยมนำมาใช้ค้ำยัน หรือทำเสาหลักในการเกษตรบางชนิด

ไผ่ไล่ลอ ลำต้นสีเขียวอ่อน พบมากที่ภาคเหนือ ขณะแทงกิ่งผลิใบ ต้นไผ่กาบจะหลุดออกมาหมด มีเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้น 3-8 เซนติเมตร และมีปล้องยาว 14-50 เซนติเมตร ลำไผ่นิยมนำมาทำรั้วบ้าน คอกสัตว์ และทำเครื่องเรือนได้ดี หน่อใช้รับประทานได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมกัน

ไผ่แนะ หรือ ไผ่คาย พบมากในป่าดิบภาคใต้ มีลำต้นสีเขียว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร ปล้องยาว 30-35 เซนติเมตร มีความสูงเพียง 3-4 เมตร หน่อมีสีเหลือง ลำไผ่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ หน่อใช้รับประทานได้ ไผ่ตากวาง พบในป่าดิบภาคใต้ ผิวลำต้นเกลี้ยง สีเขียวอมเหลือง มีเส้นผ่านศูนย์กลางของลำไผ่ 4-6 เซนติเมตร ปล้องยาว 30-40 เซนติเมตร สูงประมาณ 5 เมตร ลำต้นใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ หน่อใช้รับประทานได้

ไผ่ผาก พบมากที่ภาคใต้และจังหวัดกาญจนบุรี มีลำต้นสีเขียว ไม่มีหนาม ไผ่ชนิดนี้เป็นไผ่ขนาดใหญ่ มีเส้นผ่านศูนย์กลางของลำไผ่ 10-13 เซนติเมตร มีหน่อขนาดใหญ่ มีน้ำหนัก 2-3 กิโลกรัม ลำไผ่ทำเข่งใส่ถ่านเพื่อจำหน่าย เครื่องใช้ในครัวและเยื่อกระดาษ หน่อมีรสขม ก่อนนำมาประกอบอาหารต้องต้มในน้ำร้อนและเททิ้ง 1-2 ครั้ง ก็ใช้ได้

ไผ่คายดำ พบที่จังหวัดกาญจนบุรีและระนอง ลำต้นมีสีเขียวเข้ม ปล้องห่าง ข้อใหญ่ ไม่มีหนาม เป็นไผ่ที่มีลำต้นสูงใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางของลำไผ่ประมาณ 7-10 เซนติเมตร หน่อมีสีเขียว ไผ่ชนิดนี้ใช้ประโยชน์ได้น้อย ไม่เหมาะนำมาใช้ประโยชน์ เนื่องจากเนื้อไผ่เปราะหักง่าย หน่อมีรสขม จำไม่นิยมนำมาประกอบอาหาร

            ไผ่บงคาย พบมาที่จังหวังเชียงราย ลำต้นมีสีเขียวอ่อน ข้อปล้องมี 2 ชั้น ชั้นล่างเรียบ ส่วนชั้นบนมีปมราก ข้อต่อมีสีเขียวหม่น เส้นผ่านศูนย์กลางของลำไผ่ 5-8 เซนติเมตร และยาว 40-50 เซนติเมตร ลำต้นสูงประมาณ 10-13 เมตร ลำต้นใช้ทำเครื่องจักสานได้ดี หน่อไม้นิยมนำมาประกอบอาหารเนื่องจากมีรสชาติดี

7. สกุลมีโลแคนนา ไผ่สกุลนี้มีเพียงชนิดเดียวคือ ไผ่เกรียบ พบในป่าทึบทั่วไป เป็นไผ่มีลำต้นขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 8-15 เซนติเมตร ปล้องยาว 50-120 เซนติเมตร เนื้อหนาเฉลี่ยครึ่งเซนติเมตร ข้อเรียบ แขนงเล็ก ต้นสูง 10-15 เมตร หน่อมีขนาดใหญ่ สีเขียวกาบสีเหลืองอมส้ม บริเวณข้อมีสีแดง ไผ่ชนิดนี้นำมาใช้ประโยชน์ได้น้อย ส่วนใหญ่ปลูกไว้ประดับสวน

8.สกุลนีโอฮูซัว พบเพียงชนิดเดียวคือ ไผ่หลอด พบที่จังหวัดตราด ลำต้นสีเขียวเป็นมัน ไผ่ชนิดนี้เป็นไผ่ขนาดมีขนาดเล็ก ปล้องยาว 10-15 เซนติเมตร มีความสูงเพียง 4 เมตร หน่อมีขนาดเล็ก สีเทาในอดีตนิยมนำมาทำหลอดด้าย แต่เนื่องจากมีการนำสารสังเคราะห์มาใช้ทดแทน ปัจจุบันจึงไม่มีการนำมาทำหลอดด้ายอีก

9. สกุลซูโดซาซา พบมาในจังหวัดเพชรบูรณ์ มีเพียงชนิดเดียว แต่ยังไม่มีการศึกษาในรายละเอียด

            10. สกุลไซโซสตาคียัม มี 3 ชนิด คือ ไผ่โป และไผ่เฮียะ พบมากที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดตรง แต่ยังไม่มีการศึกษาในรายละเอียด

11.สกุลเทียโนสตาคียัม มี 2 ชนิด คือ ไผ่เฮียะเครือ และไผ่บงเลื้อย พบที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดใกล้เคียง ยังไม่มีการศึกษาในรายละเอียด

12. กสุลไธโซสตาซัส มี 2 ชนิด คือ ไผ่รวก พบมากที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นไผ่ที่มีลำต้นขนาดเล็ก มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-7 เซนติเมตร สูงประมาณ 5-10 เมตร แตกกอเป็นพุ่มแน่นพอประมาณ ลำต้นนิยมทำวัสดุก่อสร้าง ไม้ค้ำยันต้นไม้และใช้ทำเยื่อกระดาษ หน่อใช้รับประทานได้ ส่วนใหญ่เก็บถนอมด้วยวิธีทำหน่อไม้ปีบ และไผ่รวกดำ พบมากในภาคเหนือ ลำต้นมีสีเขียวเข้ม ผิวเรียบเป็นมัน มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4-7 เซนติเมตร ปล้องยาว 23-30 เซนติเมตร ลำต้นสูง 10-15 เมตร เนื่องจากลำต้นมีเนื้อไม้แข็งแรง ทนทาน จึงนิยมนำมาทำโครงร่มกระดาษและพัด เครื่องประดับอื่นๆ และเฟอร์นิเจอร์ หน่อรับประทานได้ แต่ไม่นิยม

เคล็ดปฏิบัติ: ต้นไผ่นั้น เหมาะจะนำไปปลูกไว้บริเวณริมรั้วของบ้าน เพราะธรรมชาติของต้นไผ่นั้น จะแตกหน่อเจริญงอกงามอย่างรวดเร็ว จึงเหมะจะปลูกแถบบริเวณที่โล่งกว้างของบ้าน การปลูก ก็ควรจะปลูกต้นไผ่ไว้ทางทิศตะวันออกของบ้าน เพื่อให้ต้นไผ่ได้รับแสงแดดยามเช้าอย่างเต็มที่ และควรจะลงมือปลูกในวันเสาร์ เพราะคนโบราณเชื่อว่า การปลูกต้นไม้ที่ให้ประโยชน์ได้หลาย ๆ ทาง ก็ควรจะปลูกในวันเสาร์ จึงจะงอกงามดี และเสริมมงคลดียิ่ง ผู้ที่เหมาะจะลงมือปลูกต้นไผ่มากที่สุด คือ ผู้ที่เกิดในปีมะแม ซึ่งถ้าเป็นสมาชิกภายในบ้านก็จะเป็นการดี เพราะต้นไผ่นั้น เป็นต้นไม้ประจำปีมะแม ดังนั้น ความเป็นมงคลของต้นไผ่ก็จะเพิ่มมากขึ้น ถ้าไม่มีผู้ที่เกิดปีมะแม ก็ให้หัวหน้าครบครัวเป็นผู้ปลูกก็ถือว่าเป็นมงคลเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม